เปลี่ยนสีรถ อย่างไรให้ถูกกฎหมาย

เปลี่ยนสีรถ อย่างไรให้ถูกกฎหมาย

สำหรับเจ้าของรถแล้ว การใช้รถคันเดิม ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้รู้สึกจำเจหรือเบื่อหน่ายได้ แต่ถ้าต้องเปลี่ยนรถเป็นรถคันใหม่เลย อาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินจำเป็น ทำให้การเปลี่ยนสีรถเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยปรับแต่งรถให้ดูสวยงาม และเปลี่ยนบรรยากาศให้แตกต่างไปจากเดิมได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนสีรถอาจเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับใครหลายคน เพราะมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ถ้าไม่แจ้งเปลี่ยนสีรถให้ถูกต้อง หากคุณกำลังตัดสินใจและกำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับ การเปลี่ยนสีรถให้ถูกกฎหมายอยู่ เราได้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมดไว้ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอกสารที่ต้องใช้ และขั้นตอนที่แจ้ง เปลี่ยนสีรถยนต์ หากพร้อมแล้ว มาดูรายละเอียดไปพร้อมกันเลย

 

กฎหมายเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสีรถอย่างไร ?

สีของรถยนต์เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน บางคนเลือกสีรถตามความชอบ ขณะที่บางคนเลือกตามความเชื่อ จึงทำให้เราเห็นรถหลากสีสันบนท้องถนน และแต่ละรุ่นก็มีตัวเลือกสีมากมาย ไม่ซ้ำกัน ให้เลือกตามรสนิยมของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนสีรถไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย ๆ บ่อย ๆ ตามใจอยาก เพราะยังต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เข้าเกี่ยวข้องด้วย

เนื่องจากการเปลี่ยนสีรถทำให้ข้อมูลรถในระบบที่เคยลงทะเบียนกับรถยนต์ไม่ตรงกัน ทำให้ทุกครั้งที่คุณเปลี่ยนสีรถให้แตกต่างจากสีเดิมที่ระบุในเล่มทะเบียน คุณจำเป็นต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถกับกรมการขนส่งทุกครั้ง มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

 

รายละเอียดของกฎหมายเปลี่ยนสีรถ

หากตอนนี้คุณสนใจเปลี่ยนสีรถใหม่ คุณควรศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าการเปลี่ยนสีรถเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยตาม พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 ระบุไว้ว่า รถใดที่จดทะเบียนไว้ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงสีรถใหม่ ให้ผิดแปลกไปจากที่จดทะเบียนเอาไว้ เจ้าของรถมีหน้าที่มาแจ้งกับนายทะเบียน ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่เปลี่ยนแปลง 

การเปลี่ยนสีรถที่ต้องทำการแจ้ง คือ รถยนต์ที่เปลี่ยนสีตัวถังรถมากกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะสีรถส่วนกระโปรงหน้าและกระโปรงหลัง ต้องเข้าไปแจ้งเรื่องเปลี่ยนสีรถที่กรมขนส่งตามกฎหมาย ในทางกลับกัน หากเปลี่ยนสีรถไม่เกิน 30% ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องดำเนินการแจ้ง จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนสีรถในบางจุดเล็ก ๆ ที่ไม่เด่นชัดหรือสังเกตยาก ไม่จำเป็นต้องแจ้งเปลี่ยนสี แต่หากเปลี่ยนสีในจุดที่เห็นได้ชัด อย่างฝากระโปรงรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยทำให้รถมีรูปแบบสีรถตัดกัน จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนสีเกิน 30% ของตัวรถ ซึ่งจะต้องแจ้งต่อกรมการขนส่งภายใน 7 วันตามกฎหมาย

จึงได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนสีรถไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากเปลี่ยนสีให้ไม่เหลือเค้าเดิมเลย หรือเปลี่ยนให้สีเดิมเหลือเพียงเล็กน้อย ควรรีบแจ้งการเปลี่ยนแปลงกับนายทะเบียนทันที ถ้าหากฝ่าฝืน ไม่แจ้งการเปลี่ยนสีรถ ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่เปลี่ยนสี จะมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 และมาตรา 60 ที่มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

การกำหนดสีของรถตามกฎหมาย

ตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดสีและลักษณะของรถ พ.ศ. 2549 ได้กำหนดแนวทาง เรื่องการแก้ไขแปลี่ยนแปลงสีรถหลังการจดทะเบียน ให้เข้ากับสังคมยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการทำสี รวมถึงการเปลี่ยนสีรถที่ทำได้ง่ายมากขึ้น โดยหลักเกณฑ์การกำหนดสีของรถต่อไปนี้ 

  • ถ้ารถสีสีเดียว ให้กำหนดสีนั้นเป็นสีหลัก โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเข้มของสี
  • ถ้ารถมีหลายสี โดยแต่ละสีมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ให้กำหนดสีที่เป็นสีหลักของรถไม่เกิน 3 สี แต่ถ้าหากสีรถมีเกิน 3 สี ให้กำหนดสีที่เป็นสีหลักของรถ 2 สี แล้วกำหนดกำกับไว้ลำดับท้ายสุดว่า “หลากสี” เว้นแต่ไม่สามารถกำหนดสีใดเป็นสีหลักได้เลย ให้กำหนดว่า “หลากสี” เพียงอย่างเดียว
  • ถ้ารถมีสีคาดหรือสีแถบคาดที่ตกแต่งรถ ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นสีรถ หากไม่ทำให้สีหลักของรถเปลี่ยนไป

จึงได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนสีรถไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม เช่น ติดฟิล์ม ติดสติกเกอร์  ติดคาร์บอนเคฟล่า หรือพ่นสีใหม่ จะต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยใช้หลักเกณฑ์เรื่องสีในข้างต้น เป็นตัวกำหนดสีหลักของรถ และต้องไม่เปลี่ยนสีหลักของรถเป็นสีอื่นเกิน 30% ของพื้นที่สีรถทั้งหมด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายทะเบียนด้วยเช่นกัน

 

สีรถตามกฎหมายตามระเบียบกรมขนส่งทางบก

ตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดสีและลักษณะของรถ พ.ศ. 2549 ได้กำหนดแนวทาง เรื่องสีของรถอย่างชัดเจน ให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีการกำหนดรายละเอียดสีของรถ ทำให้บางสีไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสีอะไร โดยมีหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

  • สีแดง เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีแดงอื่นด้วย เช่น สีแดงเลือดหมู สีแดงเลือดนก สีแดงบานเย็น และ สีแดงทับทิม
  • สีเทา เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีเทาอื่นด้วย เช่น สีเทาอ่อน สีเทาออกดํา สีบรอนซ์เงิน และ สีตะกั่วตัด 
  • สีน้ำเงิน เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีน้ำเงินอื่นด้วย เช่น สีน้ำเงินเข้ม สีคราม และ สีกรมท่า
  • สีฟ้า เป็นสีเดียว และมีความหมายรวมสีฟ้าอื่นด้วย เช่น สีฟ้าอ่อน และ สีฟ้าเข้ม
  • สีเหลือง เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีเหลืองอื่นด้วย เช่น สีเหลืองอ่อน สีเหลืองทอง และ สีครีมออกเหลือง
  • สีชมพู เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีชมพูอื่นด้วย เช่น สีชมพูอ่อน และ สีชมพูเข้ม
  • สีขาว เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีขาวอื่นด้วย เช่น สีขาวงาช้าง และ สีครีมออกขาว
  • สีน้ำตาล เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีน้ำตาลอื่นด้วย เช่น สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลไหม้ สีน้ำตาลเข้ม และ สีแชล็ค
  • สีดำ เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีดำอื่นด้วย เช่น สีดำออกเทา
  • สีส้ม เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีส้มอื่นด้วย เช่น สีแสด สีอิฐ และ สีปูนแห้ง
  • สีม่วง เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีม่วงอื่นด้วย เช่น สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม และ สีม่วงเปลือกมังคุด
  • สีเขียว เป็นสีเดียวและมีความหมายรวมสีเขียวอื่นด้วย เช่น สีเขียวใบไม้ สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม และ สีเขียวขี้ม้า 

จึงได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนสีรถให้เป็นสีที่แตกต่างจากสีหลักที่เป็นสีเดิมสามารถทำได้ โดยสีรถจะถูกกำหนอย่างชัดเจน ว่าเป็นสีประเภทอะไรในระเบียบข้างต้น หากมีการเปลี่ยนสีรถยนต์ให้แตกต่างไปจากเดิม แล้วแจ้งเปลี่ยนสีกับกรมขนส่งทางบก ก็จะไม่มีความผิดทางกฏหมายนั่นเอง 

 

แจ้ง เปลี่ยนสีรถยนต์ ต้องทำอย่างไรบ้าง ?

หลังจากเข้าใจกฎหมายการเปลี่ยนสีรถแล้ว เจ้าของรถสามารถเปลี่ยนสีรถยนต์ได้โดยไม่ต้องกังวล เพียงแจ้งเปลี่ยนสีกับนายทะเบียที่กรมขนส่งภายใน 7 วัน โดยมีขั้นตอนเตรียมเอกสารและการแจ้งเปลี่ยนสีรถ ดังนี้ 

เอกสารที่ต้องใช้แจ้งเปลี่ยนสีรถยนต์

  • คู่มือจดทะเบียนรถ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • หลักฐานการเปลี่ยนสีรถ เช่น ใบเสร็จรับเงินที่ร้านเปลี่ยนสีออกให้ เป็นต้น

วิธีแจ้งเปลี่ยนสีรถยนต์ที่กรมขนส่ง

  • ยื่นคำขอแจ้งเปลี่ยนสีรถ พร้อมเอกสารที่เตรียมไว้ เพื่อนำรถที่ทำสีใหม่เข้ารับการตรวจสอบ
  • หลังรถผ่านการตรวจสอบแล้ว ให้ยื่นตรวจสอบพร้อมคำขอต่าง ๆ รวมถึงผลผ่านการตรวจสอบด้วย
  • หลังจากเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ก็สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้เลย
  • แล้วรอรับเอกสารต่าง ๆ คืนจากกรมขนส่ง

โดยขั้นตอนแจ้งเปลี่ยนสีรถยนต์ทั้งหมดมีค่าใช้จ่าย 105 บาท ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการแจ้งเปลี่ยนสีรถ 50 บาท ค่าดำเนินการตรวจสภาพรถ 50 บาท และค่าคำขอ 5 บาท หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นทั้งหมดแล้ว เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนสีรถของคุณให้ถูกกฎหมาย

 

เรียกได้ว่าการเปลี่ยนสีรถไม่ใช่น่ากังวลอย่างที่ทุกคนคิด หากเข้าใจกฏหมายและทำตามขั้นตอนแจ้งเปลี่ยนสีรถยนต์ ที่ได้แนะนำไปข้างต้น เท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนสีรถได้ตามใจโดยไม่ผิดกฎหมาย เพียงทำการแจ้งเปลี่ยนสีให้เสร็จภายใน 7 วัน หลังจากเปลี่ยนสีรถ โดยถ้าใครกำลังสนใจและอยากเปลี่ยนสีรถคู่ใจของคุณ สามารถเลือกใช้บริการติด ฟิล์มเปลี่ยนสีรถยนต์ กับทาง THE NeXT ก็จะเปลี่ยนรถคุณเป็นรถคันใหม่ ช่วยให้รถยนต์มีความสวยงาม แปลกใหม่ และถูกใจเจ้าของรถ พร้อมดูแลโดยช่างผู้ชำนาญการ มีประสบการณ์โดยตรงเฉพาะด้านการติดฟิล์มมาอย่างยาวนานมากกว่า 10 ปี ทำให้คุณมั่นใจทั้งเรื่องคุณภาพที่ถูกใจ และกฏหมายที่ถูกต้องในการเปลี่ยนสีรถยนต์

 

ที่มา : กรมการขนส่งทางบก

The NeXT Everything Shine and Shield